วันนี้เราเดินไปหาปะป๊าแล้วถามว่ามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหินให้เราฟังบ้างมั้ย พ่อเราเลยบอกว่า “มีสิ” พ่อเราก็เริ่มเล่าเลยแบบไม่สนใจเลยว่าเรายังไม่หยิบโทรศัพท์มาเตรียมพิมพ์ เราก็รีบห้ามปรามว่ารอเราแปบนึง ทันทีที่หยิบโทรศัพท์มาเราก็บอกปะป๊าให้เริ่มเล่าได้ทันที
ในอดีตนานมามีสองสามีภรรยาชาวจีนฐานะยากจนประกอบอาชีพทำนาบนหุบเขาห่างไกลผู้คน อยู่มาวันนึงสองสามีภรรยาก็ให้กำเนิดลูกชาย ทั้งสองปลื้มปิติใจเป็นอย่างมากเฝ้าเลี้ยงดูบุตรชายอย่างดีขนาดที่ว่ายุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ทั้งสามีและภรรยาคาดว่าบุตรชายของตนจะเป็นผู้มีบุญมีวาสนาด้วยท่าทางที่ดูเฉลียวฉลาด บวกกับไม่อยากให้ตัวบุตรชายต้องมาทำงานใช้แรงอย่างการทำนา
อยู่มาวันนึงทางฝั่งสามีก็เดินไปตลาดในหมู่บ้าน ได้ยินชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า บนหุบเขาข้าง ๆ ไม่ห่างไกลจากไร่นาของพวกเขามาก มีชายชราอาศัยอยู่ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถรู้ตำราปรัชญารวมถึงการเขียนอ่าน สองสามีภรรยาเมื่อได้ทราบก็หมายมั่นจะส่งบุตรชายตรงเองไปเป็นลูกศิษย์ หลังจากทราบข่าวได้ไม่นานสองศรีภรรยาก็ตั้งใจพาบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนไปฝากฝัง “ท่านผู้มีความรู้ ช่วยกรุณาสอนสั่งบุตรชายของข้าด้วย” ชายชาวนากล่าวขอร้องท่านผู้เฒ่า ตนเองไม่มีอะไรจะมอบให้นอกจากข้าวสารที่ตนปลูก ทางฝั่งผู้เฒ่าก็รับปากเป็นหมายเป็นมั่น (อยู่ดีๆปะป๊าก็ตั้งชื่อลูกชายว่าอาตั๊ง)
เมื่อฝากฝังเสร็จสามีภรรยาชาวนาก็พากันลงหุบเขาแห่งนั้น อาตั๊งที่มาร่ำเรียนกับผู้เฒ่าก็มีกิจวัตรวนเวียนซ้ำไปเรื่อย ๆ ในทุกเช้าจะคอยทำความสะอาดบ้าน หุงหาอาหาร และร่ำเรียนกับท่านผู้เฒ่า ทำเป็นกิจวัตรประจำเช่นนี้สม่ำเสมอไม่ขาด แต่มีเรื่องน่าประหลาดที่เขาเองก็ไม่เข้าใจ ทุกวัน ๆ
ผู้เฒ่าจะบอกกับอาตั๊งว่า “ อาตั๊งไปเอาหินตรงนั้นมาสิ้ แล้วก็มานั่งเรียนได้แล้ว ” เป็นเช่นนี้ไปตลอดสามเดือนที่อาตั๊งมาร่ำเรียน จนอาตั๊งเองเริ่มรู้สึกเบื่อ ไม่นานพ่อของอาตั๊งก็มาเยี่ยมเยียน
“เป็นอย่างไงบ้างอาตั๊ง” “ก็ดีครับแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องคอยหยิบหินหน้าบ้านมาไว้บนตัวบ้าง มาตั้งบ้างไว้ตอนเรียนหนังสือตลอดเวลา”
“อดทนหน่อยนะอาตั๊ง บ้านเรามันก็มีแค่นี้ ท่านผู้เฒ่าก็คงมีเหตุผลของเขา”
จากสามเดือนเป็นหกเดือน จากหกเดือนเป็นหนึ่งปี จากหนึ่งปีก็เป็นเวลาสามปีแล้ว จากเด็ก 10 ขวบกลายเป็นเด็ก 13 ขวบ
“อาตั๊ง ไปหยิบหินก้อนนั้นมาสิ้”
“อาจารย์ครับหินก้อนนั้นไม่ใช่หยกนี่ครับ”
“ถูกแล้วอาตั๊ง เรามาเริ่มบทเรียนใหม่กันเถอะ”
แล้วเรื่องราวก็จบลง เราเอ๊ะมาก ๆ ว่าอีหยังนิ พ่อเราบอกว่ามันคือปรัชญาชีวิต เราเองก็เข้าไม่ถึงเท่าไหร่
แต่ที่พอจะเข้าใจคืออาตั๊งเองก็รู้มาตลอดว่าสิ่งที่ตนเองหยิบสิ่งมีค่าแต่ไม่เคยคิดที่จะลักไว้เป็นของตนแล้วหลบหนีไปเลย
เพราะหากมีหินหยกมากมายให้เขานั่งหยิบมาเรียนด้วยขนาดนั้นหายลักไปขายคงสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างสบาย จากเรื่องราวนี้คงมั่นใจได้เลยว่าตั๊งเป็นคนซื่อสัตย์อย่างแน่นอน